คำอธิบาย
รัฐบาลอาจใช้การลดภาษี การยกเว้น หรือลดหย่อนภาษี เพื่อกระตุ้นให้นักลงทุนจากภาคเอกชนหรือบริษัทต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในโครงการที่เกี่ยวข้องกับวัตถุประสงค์ของเมืองอัจฉริยะ ตัวอย่างเช่น อาจมีการให้เงินลงทุนแก่บริษัทที่เริ่มดำเนินการใช้ระบบอัตโนมัติหรือการแปลงเป็นดิจิทัลเพื่อกระตุ้นให้ภาคเอกชนนำเทคโนโลยีมาใช้งาน เครดิตภาษีการลงทุนที่กระตุ้นให้เกิดการลงทุนในอุปกรณ์จากภาคเอกชน เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน หรืออาคารกักเก็บคาร์บอนซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้กันทั่วไปเช่นกันในการกระตุ้นการลงทุนในโครงการส่งเสริมความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม
ภาวะที่เอื้ออำนวยและข้อควรพิจารณาหลัก
- กรอบการเก็บภาษีที่ชัดเจนและโปร่งใส สิทธิประโยชน์ทางภาษีทำให้เสียภาษีน้อยกว่าวงเงินของระบบการเก็บภาษีทั่วไปและเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องมีนโยบายด้านภาษีที่ชัดเจน โปร่งใส และคาดการณ์ได้เพื่อให้นักลงทุนหรือบริษัทสามารถตัดสินใจลงทุนในระยะยาวโดยอ้างอิงตามนโยบายเหล่านั้นได้
- กฎหมายภาษีต้องมีความสอดคล้องและสามารถคาดการณ์ได้ โครงการเมืองอัจฉริยะอาจมีการลงทุนโดยใช้เงินทุนล่วงหน้าสูงและมีระยะเวลานานกว่าจะได้คุ้มทุน การคาดการณ์ได้เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งเนื่องจากนักลงทุนต้องการความมั่นใจว่ากฎหมายภาษีจะยังคงเป็นที่น่าพอใจตลอดช่วงอายุของโครงการก่อนที่จะเริ่มการลงทุนนั้น
- หน่วยงานด้านภาษีต้องสามารถบังคับใช้บทลงโทษต่อการเลี่ยงภาษีได้ ต้องมีการออกแบบสิทธิประโยชน์ให้มีความแข็งแกร่งต่อการเลี่ยงภาษี เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้รัฐบาลต้องสูญเสียรายได้อย่างมากจากการลงทุนที่เคยเก็บภาษีได้ก่อนหน้านี้เมื่อบริษัทปรับโครงสร้างโครงการเพื่อฉวยประโยชน์จากการได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีใหม่ หน่วยงานที่มีอำนาจต้องสามารถระบุบริษัทที่หลีกเลี่ยงภาษีได้อย่างชัดเจนและดำเนินการบังคับใช้กฎหมาย
- ต้องมีการสื่อสารแนวทางการให้สิทธิประโยชน์ต่อนักลงทุนอย่างชัดเจน แนวทางการให้สิทธิประโยชน์ต้องได้รับการออกแบบและสื่อสารอย่างชัดเจน เพื่อให้นักลงทุนหรือบริษัทรวมทั้งหน่วยงานด้านภาษีสามารถเข้าใจอย่างชัดแจ้งเกี่ยวกับประเภทของโครงการที่มีคุณสมบัติสำหรับรับสิทธิประโยชน์ เพื่อให้ได้ ประโยชน์อย่างเต็มที่
- มีการทบทวนเป็นระยะเพื่อประเมินประโยชน์ที่ต่อเนื่องของการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี จำเป็นต้องมีการทบทวนสิทธิประโยชน์เป็นระยะเพื่อประเมินว่าต้นทุน (รายได้ที่เสียไป) สูงกว่าผลประโยชน์ที่เกิดจากการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีหรือไม่ และการออกแบบของสิทธิประโยชน์นั้นยังคงมีประสิทธิภาพในการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในเมืองอัจฉริยะอยู่หรือไม่ นอกจากนี้ ควรมีการปรับเปลี่ยนสิทธิประโยชน์นั้นเพื่อกระตุ้นให้มีการลงทุนในด้านที่เฉพาะเจาะจงใหม่ๆ ด้วย
ความท้าทายที่อาจเกิดขึ้น
- การขาดประสบการณ์ของเจ้าหน้าที่รัฐ เจ้าหน้าที่รัฐอาจมีประสบการณ์จำกัดในการออกแบบสิทธิประโยชน์ทางภาษีดังกล่าว และอาจพบว่าเป็นการยากที่จะออกแบบสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่แข็งแกร่งซึ่งทำให้บรรลุผลลัพธ์ทางนโยบายโดยที่รัฐบาลไม่ต้องสละภาษีสำหรับการลงทุน ซึ่งอาจทำได้จริงเชิงพาณิชย์และจะอาจเกิดขึ้นได้อยู่ดี ตัวอย่างเช่น รัฐบาลท้องถิ่นอาจจะต้องตัดสินใจเลือกระหว่างสิทธิประโยชน์ที่ใช้ดุลยพินิจและสิทธิประโยชน์โดยอัตโนมัติ สิทธิประโยชน์โดยอัตโนมัติที่อ้างอิงตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้อย่างชัดเจนซึ่งได้มีการสื่อสารต่อสาธารณชนไว้แล้ว อาจลดความเสี่ยงของการทุจริตและข้อพิพาทได้ เมื่อเปรียบเทียบกับสิทธิประโยชน์ที่ใช้ดุลยพินิจ
- ความเสี่ยงของการจัดสรรทรัพยากรที่ต่ำกว่ามาตรฐาน สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ประสบความสำเร็จจะทำให้เกิดการลงทุนในด้านที่อาจไม่ได้เกิดขึ้นหากไม่มีสิทธิประโยชน์นั้น หากไม่มีการตรวจสอบอย่างรอบคอบและการทบทวนเป็นระยะ สิทธิประโยชน์ทางภาษีอาจนำไปสู่การลงทุนมากเกินไปในกิจกรรมบางอย่าง หรือการลงทุนน้อยเกินไปในด้านที่ไม่ได้รับประโยชน์ด้านภาษีซึ่งอาจไม่ตรงกับความต้องการของชุมชน
- ค่าใช้จ่ายในการบังคับใช้และการปฏิบัติตามกฎอาจมีความสำคัญ รัฐบาลอาจต้องเสียค่าใช้จ่ายในการบังคับใช้กฎด้านภาษีและผู้เสียภาษีก็อาจมีค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติตามกฎ ค่าใช้จ่ายในการบังคับใช้เกี่ยวข้องกับการยินยอมให้สิทธิประโยชน์นั้นในเบื้องต้น และค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในการตรวจสอบ และบังคับให้ปฏิบัติตามข้อกำหนดคุณสมบัตินั้น
ประโยชน์ที่อาจได้รับ
- ต้นทุนในการนำไปใช้จริงต่ำหากมีการกำหนดสิทธิประโยชน์ไว้อย่างชัดเจน หากสิทธิประโยชน์ถูกออกแบบมาเพื่อให้สามารถนำไปใช้ได้โดยอัตโนมัติและไม่ใช้ตามดุลยพินิจ ต้นทุนในการนำไปใช้จริงสำหรับรัฐบาลอาจค่อนข้างต่ำเนื่องจากสิทธิประโยชน์เหล่านี้จะถูกนำไปใช้ในลักษณะเดียวกับเครดิตภาษีขององค์กรอื่นๆ ในระบบภาษีที่มีอยู่แล้วโดยไม่จำเป็นต้องมีการจัดทำแพลตฟอร์มหรือระบบเพิ่มเติม
- ช่วยให้สามารถนำแนวทางขับเคลื่อนตามตลาดมาทำการประเมินและดำเนินโครงการได้ โดยทั่วไปแล้วสิทธิประโยชน์ทางภาษีจะเป็นผลดีก็ต่อเมื่อบริษัทหรือนักลงทุนทำกำไรได้เท่านั้น และการนำสิทธิประโยช์เช่นนั้นมาใช้จริงก็ไม่จำเป็นต้องมีการเข้าไปเกี่ยวข้องในธุรกิจมากนัก ซึ่งจะช่วยให้นักลงทุนหรือธุรกิจสามารถประเมินความเสี่ยง และความเป็นไปได้ของต้นแบบธุรกิจก่อนที่จะเริ่มโครงการ และยังช่วยจูงใจให้พวกเขามุ่งเน้นที่ความคุ้มค่าและความสามารถในการทำกำไรของโครงการและสร้างโมเดลการสร้างรายได้ที่ยั่งยืน ซึ่งต่างกับการให้ทุนโดยตรง
แหล่งข้อมูล/ข้อมูลเพิ่มเติม
- สหประชาชาติ (UN) (2019) การออกแบบและประเมินสิทธิประโยชน์ทางภาษีในประเทศกำลังพัฒนา ดูได้ที่: https://www.un.org/esa/ffd/wp-content/uploads/2018/02/tax-incentives_eng.pdf
- องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (2022) สิทธิประโยชน์ทางภาษีและภาษีองค์กรขั้นต่ำทั่วโลก ดูได้ที่: https://www.oecd-ilibrary.org/docserver/25d30b96-en.pdf?expires=1718785231&id=id&accname=guest&checksum=1CA3D4E3FD6215F9EED5725E522C6D36
- เดอลอยต์ (Deloitte) (2018) การจัดหาเงินทุนและการให้เงินทุนเมืองอัจฉริยะในประเทศกำลังพัฒนา ดูได้ที่: https://www2.deloitte.com/content/dam/Deloitte/global/Documents/Public-Sector/gx-smart-cities-economies.pdf