สัมปทาน

สัมปทานเป็นการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) ประเภทหนึ่งที่ผู้ประกอบการภาคเอกชน (ผู้รับสัมปทาน) เป็นผู้รับผิดชอบในการให้บริการเต็มรูปแบบในขอบข่ายที่ระบุไว้ รวมถึงการก่อสร้าง การดำเนินการ การบำรุงรักษา การจัดการ และการฟื้นฟูระบบ

Instrument Category

Other ınstruments ın the same Category

Relevant case study

คำอธิบาย

การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (Public Private Partnership, PPP) เป็นสัญญาระยะยาวระหว่างหน่วยงานของรัฐกับหน่วยงานเอกชนในการให้บริการหรือสินทรัพย์ที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ โดยบริษัทเอกชนเป็นผู้รับความเสี่ยงและรับผิดชอบ PPP อาจเป็นสิ่งที่น่าสนใจสำหรับรัฐบาลเนื่องจากสามารถโอนค่าใช้จ่ายล่วงหน้าไปให้หุ้นส่วนเอกชน ใช้ประโยชน์จากความเชี่ยวชาญภายนอก และเปิดทางเลือกการจัดหาเงินทุนใหม่
สัมปทานเป็นรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) ประเภทหนึ่งที่ผู้ประกอบการภาคเอกชน (ผู้รับสัมปทาน) เป็นผู้รับผิดชอบการให้บริการเต็มรูปแบบในขอบข่ายที่ระบุไว้ รวมถึงการก่อสร้าง การดำเนินการ การบำรุงรักษา การจัดการ และการฟื้นฟูระบบ ผู้ประกอบการมีหน้าที่รับผิดชอบในการลงทุนทั้งหมดที่จำเป็นต่อการสร้าง ปรับปรุง หรือขยายระบบ แม้ว่าผู้ประกอบการภาคเอกชนจะรับผิดชอบในการจัดหาสินทรัพย์ แต่สินทรัพย์ดังกล่าวจะเป็นของสาธารณชนในระยะสัมปทาน ภาครัฐมีหน้าที่รับผิดชอบในการกำหนดมาตรฐานการปฏิบัติงาน และตรวจสอบให้แน่ใจว่าผู้รับสัมปทานสามารถปฏิบัติได้ตามมาตรฐานนั้น
ผู้รับสัมปทานจะเก็บค่าธรรมเนียมใช้งานโดยตรงจากผู้ใช้ระบบ และโดยทั่วไปสัญญาสัมปทานจะมีอายุ 25–30 ปี เพื่อให้ผู้ประกอบการมีเวลาเพียงพอที่ได้เงินที่ลงทุนไว้กลับคืน หน่วยงานของรัฐอาจมีส่วนร่วมในต้นทุนการลงทุนผ่าน “การอุดหนุน” (การให้เงินเพื่ออุดช่องโหว่ของความเป็นไปได้) เพื่อให้บรรลุความเป็นไปได้เชิงพาณิชย์ของสัมปทานนั้น รัฐบาลสามารถชดเชยการให้เงินช่วยของตนโดยรับเงินเป็นจำนวนตามสัดส่วนของค่าธรรมเนียมการใช้งานที่เก็บได้
สัปทานเป็นสัญญาที่อ้างอิงตามผล ซึ่งผู้รับเหมามีหน้าที่รับผิดชอบต่อการทำให้ได้ผลตามสัญญา แม้ว่าสามารถใช้สัมปทานได้กับทั้งโครงการแบบที่ต้องสร้างขึ้นใหม่ทั้งหมดและโครงการแบบที่มีของเดิมอยู่แล้ว แต่ส่วนใหญ่จะใช้ในโครงการแบบที่ต้องสร้างขึ้นใหม่ทั้งหมด เนื่องจากโครงการสัมปทานแบบที่มีของเดิมอยู่แล้วมีความเสี่ยงสูงกว่าในเรื่องของกระแสเงินสดและปัญหาความสามารถในการทำกำไร

ภาวะที่เอื้ออำนวยและข้อควรพิจารณาหลัก

  • กรอบด้านกฎหมายและกฎระเบียบสำหรับ PPP สภาวะแวดล้อมทางกฎหมายและกฎระเบียบที่เคร่งครัดในประเทศที่ดำเนินโครงการ เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการจัดโครงสร้างโครงการ PPP รวมถึงโครงการ BOT กรอบนี้ควรจะกำหนดสิทธิการลงทุนภาคเอกชน ตรวจสอบให้แน่ใจว่ามีการจัดซื้อจัดจ้างที่โปร่งใส ร่างกระบวนการอนุญาโตตุลาการ และกำหนดมาตรการสำหรับการล้มละลาย/การผิดนัดชำระเงิน การบรรยายที่ชัดเจนเกี่ยวกับความสามารถในการบังคับใช้ระหว่างสถาบันเป็นสิ่งจำเป็น กรอบด้านกฎระเบียบไม่เพียงแต่สร้างโอกาสทางธุรกิจสำหรับนักลงทุนเอกชนเท่านั้น แต่ยังมีผลต่อความรวดเร็วในการทำธุรกรรม การตัดสินใจในการกำหนดราคา และความมั่นใจทางกฎหมายในการจัดการตามสัญญา และการบังคับใช้ตามหลักนิติธรรม
  • ความเชี่ยวชาญของภาครัฐในการออกแบบและการนำไปปฏิบัติ การดำเนินการ PPP ที่ประสบความสำเร็จขึ้นอยู่กับกรอบด้านสถาบันที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งบรรยายบทบาทและความรับผิดชอบของกระทรวงต่างๆ และหน่วยงานที่ประสานงานร่วมกันไว้อย่างชัดเจน ทั้งนี้ จะช่วยเพิ่มประสิทธิผลและทำให้แน่ใจว่าจะมีการบังคับใช้ข้อตกลง PPP อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเกื้อหนุนความสำเร็จโดยรวมและความยั่งยืนของกิจการจากการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน
  • ผู้ให้บริการภาคเอกชนที่มีความสามารถ PPP จะประสบความสำเร็จก็ต่อเมื่อ ภาคเอกชนมีความสามารถที่จะเพิ่มมูลค่าในการให้บริการสาธารณะ ดังนั้น จึงควรนำรูปแบบ PPP ไปใช้กับโครงการที่ภาคเอกชนมีความสามารถทำให้บรรลุถึงมาตรฐานการบริการตามที่รัฐบาลหรือสาธารณชนต้องการเท่านั้น นี่เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในรูปแบบสัมปทานที่ผู้ประกอบการภาคเอกชนต้องตรวจสอบให้มั่นใจในการจัดการที่มีประสิทธิภาพ และการดำเนินงานที่ยั่งยืนของโครงสร้างพื้นฐานเป็นเวลานาน 25-30 ปี

ความท้าทายที่อาจเกิดขึ้น

  • ภาครัฐขาดความสามารถในการจัดทำกรอบ PPP และการนำไปใช้จริง ความสามารถของภาครัฐที่ไม่เพียงพอในการจัดทำนโยบายและการจัดการกฎระเบียบ อาจเป็นอุปสรรคต่อการสร้างกรอบด้านกฎหมาย/กฎระเบียบของ PPP ที่แข็งแกร่งและทำให้ภาคเอกชนไม่ต้องการเข้าร่วมด้วย นอกจากนี้ ความสามารถของภาครัฐในการวางแผนและจัดการโครงการ PPP ที่มีอยู่อย่างจำกัด อาจส่งผลให้ได้สัญญาที่จัดทำไม่ดี มีการจัดสรรความเสี่ยงไม่ชัดเจน และมีความดึงดูดใจน้อยลงสำหรับนักลงทุนเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครงการสัมปทานต้องการความเชี่ยวชาญและการกำกับดูแลระดับสูงจากภาครัฐ ในการออกแบบสัญญา การบริหารความเสี่ยง การเจรจากับผู้ประกอบการภาคเอกชน เพื่อให้แน่ใจว่าโครงการนั้นสอดคล้องกับสาธารณประโยชน์
  • ภาคเอกชนขาดความสามารถสำหรับผู้รับเหมาที่จะเข้าร่วม PPP ความสามารถที่จำกัดภายในภาคเอกชนอาจก่อให้เกิดปัญหาสำหรับผู้รับเหมาในการปฏิบัติตามกรอบด้านกฎหมายและกฎระเบียบ ซึ่งนำไปสู่ปัญหาการดำเนินการโครงการคั่งค้างและความล่าช้าปัญหานี้มีความสำคัญเป็นพิเศษในโครงการสัมปทาน ซึ่งผู้ประกอบการที่ดูแลวงจรชีวิตของโครงการทั้งหมดอาจไม่สามารถปฏิบัติตามภาระผูกพันและกฎระเบียบตามสัญญา และทำให้การก่อสร้างและการดำเนินการของสาธารณูปโภค/สิ่งอำนวยความสะดวกนั้นต้องล่าช้าออกไป สัมปทานอาจเผชิญความท้ายทายในการทำให้เกิดการแข่งขันที่แข็งแกร่ง เนื่องจากมีผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติเหมาะสมสำหรับเครือข่ายโครงสร้างพื้นฐานสำคัญอยู่จำนวนจำกัด ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของการแข่งขันทางการตลาด
  • ความเสี่ยงต่อการขาดความต่อเนื่องของบริการเนื่องจากปัญหาทางการเงินของผู้รับเหมา หากผู้รับเหมาเผชิญปัญหาทางการเงินระหว่างอยู่ในสัญญา อาจเกิดความเสียหายต่อความต่อเนื่องของบริการได้หากรัฐบาลหรือผู้ให้บริการเอกชนทางเลือกไม่สามารถเข้าควบคุมและให้บริการต่อไป ปัญหานี้เกี่ยวข้องเป็นพิเศษกับโครงการสัมปทานซึ่งมีต้นทุนสูงในการเปลี่ยนแปลงผู้ประกอบการ เนื่องจากลักษณะที่ซับซ้อนของการถ่ายโอนความรับผิดชอบ และความซับซ้อนทางกฎหมายที่อาจเป็นไปได้
  • กระบวนการเสนอราคาและการออกแบบสัญญาที่อาจซับซ้อน การระบุกิจกรรมของผู้ประกอบการในสัญญาสัมปทาน อาจมีความซับซ้อนทำให้เกิดความท้าทายในการร่างข้อตกลงที่ครอบคลุม ซึ่งแสดงใจความสำคัญเกี่ยวกับบทบาทและความรับผิดชอบไว้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ ยังมีความจำเป็นที่สัญญาระยะยาวต้องเรียกคืนต้นทุนการลงทุนจำนวนมาก จึงยิ่งเพิ่มความซับซ้อนให้กับกระบวนการเสนอราคาและการออกแบบสัญญาด้วยความท้าทายในการคาดการณ์เหตุการณ์ในช่วง 25 ปีข้างหน้า
  • ความเสี่ยงจากความขัดแย้งทางการเมืองและความยากลำบากด้านการจัดระเบียบ เนื่องจากสัญญาสัมปทานเป็นสัญญาระยะยาวและครอบคลุมรอบด้าน จึงอาจเป็นข้อถกเถียงทางการเมืองและท้าทายต่อการจัดระเบียบ ซึ่งทำให้เกิดความยากลำบากในการดำรงการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเปลี่ยนผ่านผู้นำทางการเมือง

ประโยชน์ที่อาจได้รับ

  • ความคุ้มค่าที่มีศักยภาพ ผู้รับเหมาภาคเอกชนที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลขั้นตอนต่างๆ ของโครงการ ทั้งการออกแบบ ก่อสร้าง การบำรุงรักษา และการดำเนินงาน มีแรงจูงใจที่จะใช้ต้นทุนตลอดอายุการใช้งานให้เหมาะสมที่สุดเพื่อความคุ้มค่าในระยะยาว ซึ่งส่งผลให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นสำหรับภาครัฐ เนื่องจากผู้ให้บริการภาคเอกชนให้ความสำคัญกับการรักษามาตรฐานคุณภาพสูงในขณะที่ลดต้นทุนตลอดอายุการใช้งานให้เหลือน้อยที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโครงการสัมปทาน เนื่องจากผู้ประกอบการมีสิ่งจูงใจที่แข็งแกร่งในการเพิ่มประสิทธิผล เนื่องจากต้นทุนที่ต่ำกว่าจะนำไปสู่ผลกำไรที่สูงขึ้น
  • ผู้รับเหมาภาคเอกชนมีแรงจูงใจให้ส่งมอบผลลัพธ์ที่ดีที่สุด ผู้รับเหมาภาคเอกชนมีแรงจูงใจที่จะมอบผลลัพธ์ที่ดีที่สุด เนื่องจากต้องหาทางทำให้บรรลุเป้าหมายและเกินกว่าเป้าหมายด้านประสิทธิภาพการทำงานตลอดระยะต่างๆ ของโครงการ ซึ่งส่งผลให้คุณภาพการบริการดีขึ้น มีการส่งมอบโครงการตามเวลา และมีการจัดการสินทรัพย์สาธารณะระยะยาวที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งภาครัฐและผู้ใช้ปลายทางในที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รูปแบบสัมปทานจะส่งเสริมให้เกิดการตรวจสอบได้และประสิทธิภาพของการทำงานที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการมีแรงจูงใจที่จะรักษามาตรฐานระดับสูงไว้ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าโครงสร้างพื้นฐานจะประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงสัมปทาน
  • การถ่ายโอนความเสี่ยงจากภาครัฐ ในโครงการสัมปทาน ผู้ประกอบการภาคเอกชนมีหน้าที่รับผิดชอบต่อความเสี่ยงด้านการก่อสร้างและการดำเนินงานทั้งหมดตลอดช่วงระยะเวลาของโครงการ การถ่ายโอนความเสี่ยงเชิงยุทธศาสตร์นี้ไม่เพียงช่วยลดภาระทางการเงินที่อาจเกิดขึ้นในภาครัฐเท่านั้น แต่ยังช่วยเพิ่มการตรวจสอบได้ภายในภาคเอกชน ซึ่งเป็นการจูงใจให้พวกเขาต้องนำยุทธศาสตร์จัดการความเสี่ยงที่แข็งแกร่งมาใช้
  • วิธีการที่มีประสิทธิภาพในการดึงดูดเงินทุนจากเอกชน สัมปทานเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการดึงดูดเงินทุนของเอกชนที่จำเป็นสำหรับการลงทุนก่อสร้างใหม่ หรือฟื้นฟูสิ่งอำนวยความสะดวกที่มีอยู่เดิม ด้วยการใช้ประโยชน์จากการได้เงินทุนจากภาคเอกชนผ่านทางสัมปทาน รัฐบาลสามารถจัดสรรทรัพยากรจากงบประมาณได้อย่างมีประสิทธิผลยิ่งขึ้น และนำเงินทุนสาธารณะไปใช้กับบริการที่จำเป็นอื่นๆ

แหล่งข้อมูล/ข้อมูลเพิ่มเติม

Case Study

Scroll to Top