เครื่องมือจัดหาเงินทุนและจำนวนเงิน
ได้รับที่ดินมากกว่า 150 ตารางกิโลเมตร เพื่อการพัฒนาผ่านทางการรวมแปลงที่ดิน
ความเป็นมา
หลังจากการแยกรัฐอานธรประเทศที่มีการผนวกดินแดนออกเป็นรัฐอานธรประเทศกับรัฐเตลังคานาเมื่อเดือนมีนาคม ปี 2014 เมืองไฮเดอราบัดซึ่งเป็นเมืองหลวงเดิมได้กลายเป็นเมืองหลวงของรัฐเตลังคานา รัฐอานธรประเทศที่เพิ่งจัดตั้งจำเป็นต้องมีการตั้งเมืองหลวงใหม่ รัฐบาลแห่งรัฐเริ่มการวางแผนและพัฒนาเมืองหลวงใหม่บนที่ดินซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม โดยเลือกใช้แนวทางการเริ่มต้นใหม่โดยไม่มีข้อจำกัดจากของเดิม
รัฐบาลได้เสนอระบบการรวมแปลงที่ดิน (Land Pooling System, LPS) จากแนวคิดการรวมแปลงที่ดินซึ่งเจ้าของที่ดินนำที่ดินของตนมาแลกเปลี่ยนกับแปลงที่มีขนาดเล็กลงแต่ได้รับการพัฒนาแล้วในอนาคต ระบบนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อเอาชนะความท้าทายที่เกี่ยวข้องกับวิธีการได้มา ซึ่งที่ดินแบบดั้งเดิมเช่น การบังคับขับไล่ออกจากที่ และการจ่ายเงินชดเชยที่ล่าช้า ด้วยการลงมือดำเนินการตั้งแต่เดือนมกราคม 2015 เป็นต้นไป LPS กำหนดเป้าหมายที่จะหาที่ดินให้ได้ 38,581 เอเคอร์ (156 ตารางกิโลเมตร) สำหรับเมืองอมราวตีที่จะเป็นเมืองหลวงแห่งใหม่
การดำเนินงาน
ภายใต้แผนงานรวมแปลงที่ดิน (LPS) เจ้าของที่ดินได้รับข้อเสนอผลประโยชน์หลายประการเป็นการตอบแทนสำหรับการนำที่ดินเข้าร่วมโครงการ รวมถึง:
- ได้รับที่ดินของตนคืนร้อยละ 50 ในพื้นที่ซึ่งผ่านการพัฒนาแล้วเป็นสัดส่วนตามที่ดินที่เจ้าของนำเข้าร่วมโครงการ
- การยกเว้นค่าธรรมเนียมการพัฒนาตามขนาดและที่ตั้งของที่ดินซึ่งได้รวมแปลงไปแล้ว
- การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานในหมู่บ้านของเจ้าของที่ดิน เช่น ถนน น้ำประปา และการระบายน้ำ
- ความสะดวกสบายทางสังคม เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล และสวนสาธารณะ
พื้นที่ 26 แห่งที่มีการรวมแปลงที่ดินแต่ละพื้นที่จะถูกจำแนกตามเขตแดนหมู่บ้านโดยให้มีขนาดแปลงที่ดินที่กำหนดไว้ตายตัว แปลงที่มีขนาดใหญ่กว่าถูกกำหนดให้ใช้เป็นถนนที่กว้างกว่า ขณะที่แปลงขนาดเล็กกว่าถูกกำหนดให้เป็นถนนที่แคบลง แปลงที่ดินทั้งแปลงใหญ่และแปลงเล็กมีหลากหลายขนาด ทำให้เจ้าของที่ดินมีตัวเลือกที่ดินให้เลือกได้จนครบตามพื้นที่ซึ่งตนเองมีสิทธิได้รับทั้งหมด ตัวอย่างเช่น เจ้าของที่ดินอาจแบ่งที่ดินของตนออกเป็นแปลงใหญ่หนึ่งแปลงและแปลงเล็กหลายแปลง หรือเลือกการจัดสรรที่ดินร่วมกันโดยนำที่ดินของตนไปรวมกับคนอื่น ลำดับของการเลือกแปลงภายในพื้นที่รวมแปลงที่ดินแต่ละแห่งถูกกำหนดผ่านระบบจับฉลากในกลุ่มเจ้าของที่ดิน เจ้าของที่ดินทุกคนได้รับใบรับรองความเป็นเจ้าของที่ดินรวมแปลงพร้อมสิทธิที่โอนได้ การยกเว้นค่าธรรมเนียมการลงทะเบียน และมีสิทธิในการได้รับผลประโยชน์จากต้นทุน
มีการเผยแพร่แผนการฉบับเบื้องต้นอย่างกว้างขวางเพื่อให้มีการตรวจสอบและการแสดงความคิดเห็นจากสาธารณชนโดยมีระยะเวลา 30 วัน สำหรับการแสดงความคิดเห็นและคัดค้าน เจ้าหน้าที่รัฐเดินทางเยี่ยมหมู่บ้านต่างๆ เพื่อปรึกษาผู้อยู่อาศัยเกี่ยวกับแง่มุมต่างๆ เช่นการออกแบบแปลง ขนาด และที่ตั้งสำหรับแปลงที่สามารถส่งคืนให้เจ้าของได้ เจ้าของที่ดินสามารถตรวจสอบแผนการแบ่งส่วนย่อยสำหรับหมู่บ้านของตนและติดต่อกับเจ้าหน้าที่โดยตรงเพื่อเจรจาเกี่ยวกับความกังวลของตน
เจ้าหน้าที่รัฐรับฟังความคิดเห็นอย่างจริงจัง โดยนำข้อเสนอแนะมารวมไว้ในแผนการฉบับแก้ไข ตัวอย่างเช่น เกษตรกรเน้นย้ำความสำคัญของการจัดที่ตั้งให้แปลงที่ดินที่ปรับรูปแบบใหม่อยู่ใกล้หมู่บ้านที่มีอยู่เดิม
ผลลัพธ์
โครงการนี้เริ่มขึ้นในปี 2015 โดยมีกระบวนการให้คำปรึกษาอย่างเข้มข้น ส่วนใหญ่เป็นการให้คำปรึกษาแก่เกษตรกรทั่วทั้ง 24 หมู่บ้านในบริเวณที่วางแผน ภายในเวลาเพียง 60 วัน รัฐบาลได้รับความยินยอมจากเกษตรกร 25,000 รายในหมู่บ้าน 22 แห่งจากจำนวนทั้งหมด 24 หมู่บ้านเพื่อนำที่ดิน 30,000 เอเคอร์เข้ามีส่วนร่วมสำหรับเมืองใหม่
LPS ของรัฐอานธรประเทศได้รับการยกย่องจากนักวางแผนเมืองและผู้กำหนดนโยบายทั่วประเทศถึงแนวทางที่เป็นนวัตกรรมการได้มาซึ่งที่ดินและพัฒนาที่ดิน โครงการนี้แสดงให้เห็นว่าการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่โดยไม่ต้องใช้การบังคับขับไล่หรือเกิดการบาดหมางกับเจ้าของที่ดินเป็นเรื่องที่เป็นไปได้
การเรียนรู้
กรอบด้านกฎหมายที่ชัดเจน
มีการสร้างกรอบการบริหารด้านสถาบันที่ครอบคลุมทุกด้านและเน้นจุดสำคัญขึ้นในเดือนธันวาคม ปี 2014 เพื่อวางแผนและดำเนินการสร้างเมืองหลวงแห่งใหม่ ต้นแบบการรวมกลุ่มที่ดินต่างๆ ที่เคยใช้ในอินเดียถูกนำมาทบทวนและศึกษา รวมถึงที่รัฐคุชราต รัฐฉัตติสครห์ รัฐโมฮาลี (ปัญจาบ) และรัฐมหาราษฏระเพื่อพัฒนากรอบด้านกฎหมายที่รวมถึงการแก้ปัญหาข้อพิพาทและกลไกการจัดสรรที่ดินใหม่ที่ชัดเจน ซึ่งเป็นสิ่งที่มีประสิทธิภาพอย่างมากในการให้ความมั่นใจว่ามีการประกาศนโยบายและนำไปใช้อย่างราบรื่น
สร้างความมั่นใจว่าพลเมืองมีส่วนร่วม
การรวมแปลงที่ดินต้องอาศัยความร่วมมือและความเห็นชอบจากกลุ่มพลเมืองจำนวนมาก ทำให้จำเป็นที่รัฐบาลจะต้องให้พลเมืองเหล่านั้นได้มีส่วนร่วมในกระบวนการวางแผน คณะอนุกรรมการโครงการได้ทำการตรวจเยี่ยมภาคสนามครอบคลุมในวงกว้าง มีการให้คำปรึกษา และแสวงหาข้อมูลจากเกษตรกรในพื้นที่ที่ระบุไว้เพื่อกำหนดกรอบนโยบายที่จะแก้ปัญหาความกังวลของเกษตรกรเหล่านี้ กระบวนการให้คำปรึกษาได้รับการออกแบบมาอย่างดีเพื่อจัดการความกังวลของเจ้าของที่ดินในแนวทางแบบองค์รวมและครอบคลุมทุกด้าน นอกจากนี้ ยังรวมการเปิดเผยเอกสารและการแจ้งเตือนต่อสาธารณชนลงในกระบวนการที่ระยะต่างๆ ด้วย
การจัดการสถานการณ์ที่มีความเห็นแย้ง
เนื่องจากโครงการรวมแปลงที่ดินเป็นโครงการตามความสมัครใจ จึงอาจเกิดสถานการณ์ที่พลเมืองเลือกไม่เข้าร่วมโครงการแม้จะมีความพยายามสร้างความมั่นใจว่าจะให้ความเป็นธรรมก็ตาม กรณีเช่นนี้ทำให้ผู้กำหนดนโยบายจำเป็นต้องมีแผนฉุกเฉินไว้เสมอ จากหมู่บ้านทั้งสิ้น 26 แห่งที่มีส่วนเกี่ยวข้องในรัฐอานธรประเทศ มีสองหมู่บ้านเลือกไม่เข้าร่วมโครงการรวมแปลงที่ดิน รัฐบาลแห่งรัฐจึงเสนอค่าชดเชยให้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งภายใต้พระราชบัญญัติ สิทธิการได้ค่าชดเชยที่เป็นธรรมและความโปร่งใสในการได้มาซึ่งที่ดิน การฟื้นฟู และการตั้งถิ่นฐานใหม่ (Right to Fair Compensation and Transparency in Land Acquisition, Rehabilitation and Resettlement Act) (ปี 2013) ชาวบ้านแย้งว่า LPS ไม่ได้ให้เงินชดเชยที่เท่าเทียมกันและตำหนิอัตราที่กำหนดขึ้นเอง หลังจากนั้น ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2020 รัฐบาลแห่งรัฐจึงตัดหมู่บ้านทั้งสองแห่งนี้ออกจากพื้นที่เมืองหลวงอมราวตี และนำเข้าไปรวมกับเขตเทศบาลใกล้เคียง
แหล่งข้อมูล/ข้อมูลเพิ่มเติม
- หน่วยงานกำกับดูแลการพัฒนาภูมิภาคเมืองหลวงของรัฐอานธรประเทศ (2018) การรวมแปลงที่ดินเพื่อการพัฒนาในรัฐอานธรประเทศ ดูได้ที่: https://crda.ap.gov.in/crda_norifications/NOT07091749/01~Case%20Study%20on%20Land%20Pooling%20Scheme%20@%20Amaravati.pdf#:~:text=As%20the%20largest%20exercise%20of%20its%20kind%20in,33%2C700%20acres%20have%20been%20consolidated%20through%20the%20scheme
- วารสารวิจัยและเทคโนโลยีด้านวิศวกรรมระหว่างประเทศ (International Journal Of Engineering Research & Technology, IJERT) (2022) การดำนินการรวมแปลงที่ดินในประเทศอินเดีย – กรณีศึกษาของอมราวตีและมครภัตตา ดูได้ที่: https://www.ijert.org/land-pooling-practices-in-india-a-case-study-of-amaravathi-and-magarpatta
- ธนาคารพัฒนาเอเชีย (2022) การรวมแปลงที่ดินในเอเชียใต้ ดูได้ที่: https://www.adb.org/sites/default/files/publication/767671/sawp-088-land-pooling-south-asia-lessons-learned.pdf