การร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาตลาดสาธารณะในฟิลิปปินส์

สัญญาการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public private partnership, PPP) เพื่อพัฒนาตลาดสาธารณะ โครงการมูลค่าประมาณ 6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ตามค่าเงิน 300 ล้านเปโซฟิลิปปินส์ในเดือนเมษายน ปี 2020) ได้รับเงินทุนผ่านกระบวนยื่นข้อเสนอตามหนังสือเชิญร่วมประกวดราคา

การร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาตลาดสาธารณะในฟิลิปปินส์

เครื่องมือจัดหาเงินทุนและจำนวนเงิน

สัญญาการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public private partnership, PPP) เพื่อพัฒนาตลาดสาธารณะ โครงการมูลค่าประมาณ 6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ตามค่าเงิน 300 ล้านเปโซฟิลิปปินส์ในเดือนเมษายน ปี 2020) ได้รับเงินทุนผ่านกระบวนยื่นข้อเสนอตามหนังสือเชิญร่วมประกวดราคา

ความเป็นมา

ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) เป็นศูนย์กลางของยุทธศาสตร์การเติบโตแบบครอบคลุมทุกด้านของฟิลิปปินส์ การวางแผนการพัฒนาและการจัดโปรแกรมการลงทุนของฟิลิปปินส์เกี่ยวข้องกับกระบวนการแบบไดนามิกและวนซ้ำ โดยรัฐบาลแห่งชาติ ภูมิภาค และท้องถิ่น ต่างสนับสนุนการจัดลำดับความสำคัญในการพัฒนาของกันและกัน รัฐบาลแห่งชาติกำหนดนโยบายและเป้าหมายทางเศรษฐกิจมหภาค โดยพิจารณาประเด็นการพัฒนาต่างๆ

เมืองแมนดาลูยองเป็นเมืองเล็กที่สุดในมหานครมะนิลา เมืองนี้ครอบคลุมพื้นที่เพียง 12 ตารางกิโลเมตรและมีประชากรมากกว่า 278,000 คน ตลาดสาธารณะตั้งอยู่ใจกลางเมืองบนพื้นที่ขนาด 7,500 ตารางเมตร ตามแนวถนนคาเลนตองซึ่งเป็นเส้นทางการขนส่งที่สำคัญ ในปี 1991 ตลาดถูกไฟไหม้จนวอด โดยมากเป็นเพราะโครงสร้างส่วนใหญ่เป็นไม้ เพื่อเป็นการแก้ปัญหาชั่วคราว รัฐบาลอนุญาตให้ผู้ค้าที่สูญเสียที่ทำกิน 500 ราย ตั้งแผงขายสินค้าตามสองข้างถนนและทางเท้าในบริเวณตลาดได้ แต่กลับปรากฏโดยเร็วว่า การจัดการเช่นนี้ไม่เป็นผลดีทางปฏิบัติ เนื่องจากนำไปสู่ปัญหาการจราจรติดขัดและปัญหาด้านสุขาภิบาล

การสร้างตลาดสาธารณะขึ้นมาใหม่กลายเป็นเรื่องที่มีความสำคัญสูงสำหรับรัฐบาลของเมือง แต่การจัดหาเงินทุนสำหรับโครงการนั้นเกินขีดความสามารถของเมือง อัตราดอกเบี้ยในประเทศอยู่ในระดับสูง โดยเฉลี่ยประมาณร้อยละ 18 ต่อปี และเมืองไม่ได้เตรียมรับมือกับการเป็นหนี้ที่จำเป็นสำหรับการก่อสร้างเพิ่มเติม นอกจากนี้ รัฐบาลของเมืองยังกังวลว่าการคิดค่าใช้จ่ายสูงกับเจ้าของแผงลอยจะส่งผลให้ลูกค้าซึ่งหลายคนเป็นผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ที่มีรายได้ต่ำ จะต้องรับมือกับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น

การดำเนินงาน

เพื่อแก้ไขปัญหานี้ รัฐบาลของเมืองจึงตัดสินใจที่จะพัฒนาตลาดสาธารณะใหม่ เพื่อให้ผู้ค้าขายมีสถานที่ที่เหมาะสมต่อการทำธุรกิจของตน และทำให้มีที่ว่างบนทางเท้าสำหรับผู้สัญจร มีการออกแบบศูนย์การค้าเจ็ดชั้น ชื่อว่า เดอะมาร์เก็ตเพลซ (The Marketplace) เพื่อรวมตลาดสาธารณะ ร้านค้าริมถนน ที่จอดรถ ร้านค้าเชิงพาณิชย์ ห้างสรรพสินค้า โรงโบว์ลิ่ง และโรงภาพยนตร์ไว้ในที่เดียวกัน

ในปี 1991 รัฐบาลเมืองแมนดาลูยองได้ทำสัญญา PPP เพื่อพัฒนาตลาด โครงการนี้ได้รับเงินผ่านรูปแบบการยื่นข้อเสนอประกวดราคาตามข้อกำหนด และการเสนอราคาที่ชนะมาจากกลุ่มกิจการค้าร่วมที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อโครงการนี้ ชื่อว่า Macro Founders and Developers Inc (MFD)

นักพัฒนาเอกชนสร้างตลาดสาธารณะที่ชั้นล่างของศูนย์การค้า และส่งมอบการควบคุมให้กับรัฐบาลของเมืองเมื่อเสร็จสมบูรณ์แล้ว รัฐบาลของเมืองสร้างแผงลอยครึ่งหนึ่ง ส่วนอีกครึ่ง เจ้าของแผงเป็นผู้สร้างเองตามข้อตกลงระหว่างเมืองกับสมาคมเจ้าของแผงลอย รัฐบาลของเมืองดำเนินงานตลาดสาธารณะและเก็บค่าธรรมเนียมแผงลอย ขณะที่การบำรุงรักษาและการรักษาความปลอดภัยได้ว่าจ้างให้ Macro Founders and Developers Inc (MFD) เป็นผู้ดำเนินการ

ส่วนที่เหลือของศูนย์การค้าแห่งนี้ ได้มีการพัฒนาตามแผนงาน จัดสร้าง-ดำเนินการ-โอนคืน (BOT) และได้มอบสัมปทาน 40 ปีให้ MFD สำหรับการดำเนินงานและการบำรุงรักษาในส่วนนี้ของศูนย์การค้า รัฐบาลยังคงเป็นเจ้าของที่ดินแต่ไม่ได้เรียกการชำระค่าเช่าจาก MFD นอกจากนี้ รัฐยังไม่มีส่วนแบ่งในรายได้ใดๆ จากศูนย์การค้า ซึ่ง MFD ใช้เป็นการชดเชยเงินลงทุนและครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของบริษัท เมื่อครบ 40 ปีแล้ว MFD จะโอนการดำเนินงานและการบำรุงรักษาศูนย์การค้านี้กลับไปยังรัฐบาลของเมือง

ค่าใช้จ่ายสำหรับโครงการเริ่มต้นที่ 6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และโครงสร้างการจัดหาเงินทุนมีดังนี้:

  • ร้อยละ 50 ของต้นทุนโครงการได้รับเงินทุนจากการเป็นหนี้ บริษัทเพื่อการลงทุนและการเงินแห่งเอเชีย (Asian Financing and Investment Corporation) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank) ได้ให้เงินกู้ระยะเวลา 10 ปีในอัตราผ่อนปรนสำหรับโครงการนี้
  • ส่วนที่เหลือได้รับเงินทุนจากผู้ถือหุ้นจาก MFD และเงินล่วงหน้าจากร้านค้าและองค์กรการกุศล ส่วนที่ได้จากผู้ถือหุ้น MFD คิดเป็นร้อยละ 25 ของต้นทุนโครงการ และอีกร้อยละ 25 ของต้นทุนโครงการได้จากการจ่ายล่วงหน้าของร้านค้าและการบริจาคเพื่อการกุศล

ในท้ายที่สุด ต้นทุนโครงการอยู่ที่ 9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่เนื่องจากโครงการนี้มีศักยภาพทางการค้าสูง MFD จึงรับความเสี่ยงจากการก่อสร้างทั้งหมด และดูดซับการเพิ่มต้นทุนนี้โดยทำการเพิ่มทุนด้วยหุ้นที่เพิ่มขึ้น

ผลลัพธ์

โครงการนี้ถือว่าประสบความสำเร็จ มีการสร้างรายได้ที่เพียงพอสำหรับนักพัฒนาเอกชนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนจากการลงทุนที่สมเหตุสมผล รัฐบาลของเมืองแมนดาลูยองยังได้รับประโยชน์ เนื่องจากมีรายได้จากการดำเนินงานของตลาดสดสาธารณะ รวมทั้งได้ภาษีธุรกิจ ค่าใบอนุญาต และค่าธรรมเนียมที่ผู้เช่าศูนย์การค้าจ่ายให้

มีรายงานว่าการก่อสร้างตลาดสาธารณะและห้างสรรพสินค้าแห่งใหม่ได้สร้างงานระยะยาวประมาณ 600 งาน และปรับปรุงพื้นที่โดยรอบโดยลดปัญหาน้ำท่วมด้วยการติดตั้งท่อระบายน้ำแบบกล่อง เนื่องจากความสำเร็จของโครงการ ปัจจุบันจึงมีการใช้โครงการนี้เป็นต้นแบบของ PPP ทั่วประเทศฟิลิปปินส์

การเรียนรู้

แนวทางนวัตกรรมในการจัดหาเงินทุนเป็นตัวเลือกสำหรับการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน

โครงการ PPP ที่วางแผนไว้อย่างดีช่วยให้รัฐบาลท้องถิ่นสามารถมอบบริการโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นแก่ประชาชนได้ เทศบาลต่างๆ ควรพิจารณาแหล่งเงินทุนที่มีศักยภาพในวงกว้างสำหรับโครงการโครงสร้างพื้นฐาน ด้วยโครงสร้างการพัฒนาที่ใช้แบบผสมผสาน ทำให้โครงการสามารถสร้างรายได้จากกิจกรรมที่มีมูลค่าสูง (เช่น ร้านค้า โรงภาพยนตร์) ในศูนย์การค้า ซึ่งสามารถนำมาใช้เป็นเงินอุดหนุนสิ่งอำนวยความสะดวกของผู้ขายที่มีต้นทุนต่ำในตลาดสาธารณะได้

การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย

การมีส่วนร่วมและเกี่ยวข้องของผู้มีส่วนได้เสียเป็นสิ่งสำคัญต่อความสำเร็จของโครงการ โครงการนี้ได้รวมเอาสมาคมเจ้าของแผง และการมอบเงินสนับสนุนจากร้านค้าและสถาบันการกุศลไว้ด้วย รัฐบาลของเมืองมีส่วนร่วมในการจัดโครงสร้างและการนำโครงการไปใช้จริง

กรอบด้านกฎหมาย

ฟิลิปปินส์เป็นประเทศแรกในเอเชียที่ประกาศใช้กฎหมายเฉพาะสำหรับกระบวนการ BOT กฎหมาย BOT ปี 1990 กำหนดหลักเกณฑ์และกลไกทางกฎหมายสำหรับภาคเอกชนในการดำเนินโครงการลงทุนด้วยเงินทุน ซึ่งเป็นโครงการที่เคยดำเนินการโดยหน่วยงานของรัฐ บริษัท หรือหน่วยงานรัฐบาลท้องถิ่น (local government unit, LGU) มาแต่ดั้งเดิม กฎหมาย BOT ปี 1990 กำหนดให้มีการทำสัญญาระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนเพียงสองวิธี คือโครงการจัดสร้าง-ดำเนินการ-โอนคืน (BOT) และโครงการจัดสร้าง-โอนคืน

กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่แข็งแกร่ง

กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่โปร่งใสให้ความมั่นใจว่า จะมีการเลือกผู้ประมูลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่สุดภายใต้เงื่อนไขที่น่าพึงพอใจทั้งภาครัฐและภาคเอกชน

แหล่งข้อมูล/ข้อมูลเพิ่มเติม

  1. ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ธันวาคม 2020) การติดตามตรวจสอบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ดูได้ที่: https://www.adb.org/sites/default/files/publication/687856/public-private-partnership-monitor-philippines.pdf
  2. แพลตฟอร์มระดับโลกสำหรับเมืองที่ยั่งยืน สรุปโครงการ ส่วนที่ 1 ตลาดสาธารณะ ดูได้ที่: https://www.thegpsc.org/sites/gpsc/files/38._mandaluyong_city_market_manila_philippines.pdf
  3. บทสรุปเรื่องตลาดเมืองแมนดาลูยองที่สร้างขึ้นใหม่บนพื้นฐานของ BOT (UNDP) ดูได้ที่: https://ppp.worldbank.org/public-private-partnership/library/summary-mandaluyong-city-market-rebuilding-bot-basis-undp 

Other Relevant Case Studies

รัฐบาลบรูไนได้จัดสรรเงินจำนวน 18 ล้านดอลลาร์บรูไน (13.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)* เพื่อพัฒนา BruHealth ระยะที่ 2 และ 3 ในการจัดทำงบประมาณสำหรับปีงบประมาณ 2023/24
การสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ได้รับการดำเนินการด้วยการเงินแบบผสมผสาน โดยมีต้นทุนรวมอยู่ที่ 41 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และการสนับสนุน 4 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากโครงการการเงินแบบผสมผสานของ Canada-IFC
นิติบุคคลเฉพาะกิจเพื่อดูแลทางด่วน (Toll Road Special Vehicle, BUJT) ที่เป็นผู้บริหารจัดการทางด่วน MBZ (MBZ Toll Road) ได้ขายหุ้นร้อยละ 40 ของบริษัทใน PT Jasamarga Jalanlayang Cikampek (JJC) มูลค่า 4.38 ล้านล้านริงกิตอินโดนีเซีย (291.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) *ให้ PT Margautama Nusantara (MUN) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทซาลิมกรุ๊ป (Salim Group Company)
Scroll to Top